วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากแบบไม่พลิกกลับกอง

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากแบบไม่พลิกกลับกอง


ความจำเป็นของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์

      ในการเพาะปลูกของเกษตรกร สิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญที่สุดคือความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะได้มาจากการที่มีอินทรีย์วัตถุสะสมอยู่ในดินอยู่มาก จุลินทรีย์ดินจะใช้อินทรีย์วัตถุเป็นสารอาหารแล้วปลดปล่อยแร่ธาตุที่จำเป็นให้แก่พืชในปริมาณที่พืชต้องการอย่างเพียงพอ ซึ่งได้แก่ ธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน-N ฟอสฟอรัส-P2O5 และโพแทสเซียม-K2O) ธาตุอาหารรอง (ซัลเฟอร์ แคลเซียม และแมกนีเซียม) และจุลธาตุ (แมงกานีส ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม เหล็ก คลอรีน นิกเกิ้ล และสังกะสี) การเติมความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินวิธีหนึ่งคือการใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ (Compost) ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืชแล้ว ปุ๋ยอินทรีย์ยังช่วยลดความเป็นกรดของดินที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้าอย่างยาวนานได้อีกด้วย ทำให้เชื้อโรคในดิน เช่น โรครากเน่า เป็นต้น ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เพราะเชื้อโรคศัตรูพืชจะชอบอยู่ในดินที่เป็นกรดเท่านั้น นอกจากนี้ ในอดีตก่อนที่จะมีการผลิตปุ๋ยเคมีขึ้นในโลก เกษตรกรในประเทศไทยก็ได้มีการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินในการเพาะปลูกโดยการใช้มูลสัตว์ต่าง ๆ เช่น มูลโค มูลกระบือ และมูลไก่ เป็นต้น มาโดยตลอด ประเทศไทยในขณะนั้นสามารถส่งออกข้าวเป็นที่ 1 ของโลกได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีปุ๋ยเคมีใช้
      แต่ปัจจุบัน ภายหลังจากการ “ปฏิวัติเขียว” หรือการนำปุ๋ยเคมีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2503 การเกษตรกรรมของไทยก็ได้ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และยาฆ่าหญ้าอย่างหนัก โดยลืมที่จะเติมความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินอย่างแต่ก่อน การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีอย่างยาวนาน 40 - 50 ปี ได้ทำให้ดินเพาะปลูกเสื่อมสภาพลงอย่างมาก กลายเป็นดินที่แน่น แข็ง และเป็นกรด รากพืชไม่สามารถชอนไชหาอาหารได้ดี ความเป็นกรดของดินทำให้เกิดการละลายของธาตุอะลูมิเนียมออกมาแล้วดูดซึมเข้าทางรากพืช ทำให้พืชไม่แข็งแรงกลายเป็นโรคง่าย และเชื้อราที่เป็นโรคพืชบางชนิดยังทำงานได้ดีในดินที่เป็นกรดอีกด้วย ทำให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเพิ่มมากขึ้นทุกปีทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นอีก และในขณะเดียวกัน การเผาทำลายเศษพืชในแต่ละครั้งก็ส่งผลให้อินทรีย์วัตถุและจุลินทรีย์ดินที่มีอยู่น้อยพลอยสลายตัวหายไปอีกด้วย

      เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินกลับคืนมาเกษตรกรจึงควรงดการเผาเศษพืช นำเศษพืชมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีแล้วนำไปปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ที่จะส่งผลให้การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีลดลง ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตก็จะลดลง มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผลกำไรมากขึ้นตามไปด้วย ดินเพาะปลูกจะกลับมาเป็นดินดำที่ฟู นุ่ม โครงสร้างเม็ดดินจะร่วนซุยขึ้น มีไส้เดือนกลับคืนมาที่ช่วยการชอนไชของรากพืช พืชก็จะกลับมาแข็งแรง เกษตรกรและประชาชนจะมีสุขภาวะที่ดีจากการลดควันพิษจากการเผาและลดการใช้สารเคมี

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีใหม่ “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”

     จากผลการค้นคว้าวิจัยของคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีนวัตกรรมใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง จากการใช้หลักการทางวิศวกรรมด้านการพาความร้อน (Chimney Convection) มาประยุกต์ใช้ เกษตรกรจะสามารถผลิตได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีปริมาณมากครั้งละ 10 – 100 ตัน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้มีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 เสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน เรียกว่าวิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” ที่ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่นและน้ำเสีย วัตถุดิบมีเพียงเศษพืชกับมูลสัตว์เพียง 2 อย่างเท่านั้น โดยถ้าเศษพืชเป็นฟางข้าวอัตราส่วนระหว่างฟางข้าวกับมูลสัตว์คือ 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร และถ้าเป็นเศษใบไม้ให้ใช้อัตราส่วน 3 ต่อ 1 โดยปริมาตร

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”

      ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” มีดังนี้
      1. นำฟางข้าว 4 ส่วน วางเป็นชั้นบาง ๆ สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร โปรยทับด้วยมูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำ (อย่างเช่น นำฟาง 16 เข่ง มาวางหนา 10 ซม. โรยทับด้วยมูลสัตว์ 4 เข่ง เพื่อให้เป็นสัดส่วน 4 ต่อ 1 เป็นต้น) ทำเช่นนี้ 15 - 17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น ขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูง 1.50 เมตร ชั้นบนสุดเป็นมูลสัตว์ กองปุ๋ยจะมีความยาวเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ที่มี ความสำคัญของการที่ต้องทำเป็นชั้นบาง ๆ 15 - 17 ชั้นก็เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ทั้งธาตุคาร์บอนที่มีอยู่ในเศษพืชและธาตุไนโตรเจนที่มีในมูลสัตว์ในการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ ซึ่งจะทำให้การย่อยสลายวัตถุดิบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
     ถ้าเป็นฟาง เศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้า ผักตบ ให้ใช้ 4 ต่อ 1 และถ้าเป็นใบไม้ให้ใช้ 3 ต่อ 1 ..... เศษพืชที่สดจะเปื่อยง่ายกว่าแบบแห้ง ..... มูลสัตว์ใช้ได้ทุกชนิด เพราะในมูลสัตว์มีจุลินทรีย์หัวเชื้อและไนโตรเจน ที่จำเป็นต่อกระบวนการย่อยสลายในกองปุ๋ย

      2. ตลอดเวลา 60 วัน ให้รักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลา (มีค่าประมาณร้อยละ 60 – 70) โดยมี 3 ขั้นตอนดังนี้
      ขั้นตอนที่ 1 รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยทุกวัน ๆ ละครั้ง โดยไม่ให้มีน้ำไหลนองออกมาจากกองปุ๋ยมากเกินไป
      ขั้นตอนที่ 2 เมื่อครบวันที่ 10 ใช้ไม้หรือเหล็กแทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไป ระยะห่างของรูประมาณ 40 เซนติเมตร ทำขั้นตอนที่สองนี้ 5 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรูเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกองปุ๋ย ขั้นตอนนี้แม้ว่าอยู่ในช่วงของฤดูฝนก็ยังต้องทำ เพราะน้ำฝนไม่สามารถไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ จากข้อดีที่น้ำฝนไม่สามารถชะล้างเข้าไปในกองปุ๋ยได้ เกษตรกรจึงสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ในฤดูฝนได้ด้วย ปริมาณน้ำที่เติมโดยรวมต้องไม่ทำให้มีน้ำเจิ่งนองออกมามากเกินไป
     ขั้นตอนที่ 3 ภายหลังวันที่ 10 หรือ 20 ให้สุ่มตรวจสอบความชื้นข้างในกอง โดยการเอาจอบมาสับกองปุ๋ยลึก ๆ สัก 40 ซม. เพื่อดูว่าข้างในกองปุ๋ยแห้งเกินไปหรือเปล่า ถ้าแห้งเกินไปก็จะได้กรอกน้ำลงไปที่จุดนั้น แล้วปรับวิธีการเจาะกองปุ๋ยกรอกน้ำของเรา

 

      ภายในเวลา 5 วันแรก กองปุ๋ยจะมีค่าอุณหภูมิสูงขึ้นมาก บางครั้งสูงถึง 70 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับกองปุ๋ยที่ทำได้ถูกวิธี ความร้อนสูงนี้เกิดจากกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์ (จุลินทรีย์มีมากมายและหลากหลายในมูลสัตว์อยู่แล้ว) และความร้อนสูงนี้ยังเป็นสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยอีกด้วย (จุลินทรีย์กลุ่มชอบความร้อนสูง Thermophiles และ Mesophiles) หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อย ๆ ลดลงตามเวลาจนมีค่าอุณหภูมิปกติที่อายุ 60 วัน

      3. เมื่อกองปุ๋ยมีอายุครบ 60 วัน ก็หยุดให้ความชื้น กองปุ๋ยจะมีความสูงเหลือเพียงประมาณ 1 เมตร แล้วทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์สงบตัว (Stabilization Period) ไม่ให้เป็นอันตรายต่อรากพืช วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งอาจทำโดยทิ้งไว้ในกองเฉย ๆ ประมาณ 1 เดือน หรืออาจแผ่กระจายให้มีความหนาประมาณ 20 – 30 ซม. ซึ่งจะแห้งภายในเวลา 3 – 4 วัน สำหรับผู้ที่ต้องการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ก็อาจนำปุ๋ยอินทรีย์ที่แห้งแล้วไปตีป่นให้มีขนาดเล็กสม่ำเสมอ ซึ่งจะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 5 - 7 บาท สามารถเก็บได้นานหลายปี

      กองปุ๋ยที่สูง 1.5 เมตรจะสามารถเก็บกักความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาการย่อยสลายของจุลินทรีย์เอาไว้ในกองปุ๋ย ความร้อนนี้นอกจากจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับจุลินทรีย์ชนิดชอบความร้อนสูงที่มีในมูลสัตว์แล้ว เมื่อความร้อนนี้ลอยตัวสูงขึ้นจะทำให้อากาศภายนอกที่เย็นกว่าไหลเวียนเข้าไปในภายในกองปุ๋ย ซึ่งเกิดจากผลของการพาความร้อน (Chimney Convection) อากาศภายนอกที่ไหลหมุนเวียนเข้ากองปุ๋ยนี้ช่วยทำให้เกิดสภาวะการย่อยสลายของจุลินทรีย์แบบใช้อากาศ (Aerobic Decomposition) ทำให้ไม่ต้องมีการพลิกกลับกอง และช่วยให้กองปุ๋ยไม่มีกลิ่นหรือน้ำเสียใด ๆ ในหน้าหนาวเราอาจพบเห็นไอร้อนลอยออกมาจากกองปุ๋ย ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากำลังมีอากาศเย็นกว่าไหลเข้าไปในกองปุ๋ยตลอดเวลา

หัวใจสำคัญของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”

      หัวใจสำคัญของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ คือ ต้องรักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอกกองปุ๋ยด้วยวิธีการ 2 ขั้นตอนข้างต้น บริเวณใดที่แห้งเกินไปหรือแฉะเกินไปจุลินทรีย์จะไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้วัสดุไม่ย่อยสลาย กระบวนการอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือนถึง 1 ปีก็ได้

ข้อห้ามของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”

ข้อห้ามของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้คือ
1. ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย หรือเอาดินปกคลุมด้านบนกองปุ๋ย เพราะจะทำให้อากาศไม่สามารถไหลถ่ายเทได้
2. ห้ามละเลยการดูแลความชื้นทั้ง 2 ขั้นตอน เพราะถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไปจะทำให้ระยะเวลาแล้วเสร็จนานและปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพต่ำ
3. ห้ามวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไป การวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไปจะทำให้จุลินทรีย์ที่มีในมูลสัตว์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเศษพืชได้
4. ห้ามทำกองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนของกองปุ๋ยอาจทำให้ต้นไม้ตายได้
5. ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนสูงในกองปุ๋ยจะช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีมากขึ้น และยังช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย

      เศษพืชทุกชนิดสามารถนำมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้ได้ เช่น ฟางข้าว ซังและเปลือกข้าวโพด ผักตบชวา เศษผักจากตลาด และเศษใบไม้ (ทั้งสดและแห้ง) เป็นต้น ส่วนมูลสัตว์ทุกชนิดสามารถนำมาใช้ได้ทั้งมูลโค มูลไก่ และมูลสุกร (ทั้งแห้งและเปียก) โดยพบว่า ฟางข้าว ผักตบชวา และเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นเศษพืชที่ย่อยสลายได้ง่ายที่สุด ส่วนเมล็ดหรือเปลือกผลไม้ที่มีความแข็งก็สามารถนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้แต่ต้องนำไปตีบดในเครื่องย่อยเศษพืชเสียก่อน
      การผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้จะช่วยลดการเผาฟางข้าวในนาได้ โดยการไถกลบตอซังแล้วนำฟางข้าวกับมูลสัตว์ขึ้นกองปุ๋ยวิธีใหม่นี้ในทุ่งนาใกล้แหล่งน้ำ เมื่อปุ๋ยอินทรีย์แห้งหรือถึงฤดูการเพาะปลูกก็นำไปโปรย แล้วไถกลบไปพร้อมกับการเตรียมดินได้เลย ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและแรงงานในการขนวัสดุได้มาก

      เนื่องจากปุ๋ยหมักที่ผลิตได้จะอุดมไปด้วยธาตุอาหารมากมาย จึงควรระมัดระวังไม่ใช้ปุ๋ยหมักล้วน ๆ ปลูกพืชในกระถางเพราะจะทำให้พืชสำลักธาตุอาหารตายได้ ปริมาณการใช้ในการเพาะปลูกคือ 300 - 3,000 กก.ต่อไร่ ขึ้นกับว่าดินมีคุณภาพเลวหรือดีมากน้อย แต่ไม่ควรเกิน 3,000 กก.ต่อไร่ หรือ 2 กก.ต่อตารางเมตรเนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อพืชได้
      ในการผลิตปุ๋ยหมักวิธีนี้ 1 ตัน ต้องการความยาวประมาณ 4 เมตร ใช้มูลสัตว์ 30 กระสอบ หรือ 360 กก. ใช้เศษพืชประมาณ 1,000 กก. คิดเป็นต้นทุนมูลสัตว์ประมาณ 750 บาท ในขณะที่ปุ๋ยหมักมีราคาขายทั่วไปอยู่ที่ตันละ 5,000 - 7,000 บาท จึงอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะนำเศษพืชอย่างเช่น ฟาง ผักตบชวา ใบไม้ ใบอ้อย และหญ้า มาทำประโยชน์เป็นปุ๋ยหมักที่สร้างรายได้ แทนที่จะเผาทิ้งไป

รูปตัวอย่างการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี วิศวกรรมแม่โจ้ 1


 ฐานเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้

      มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีฐานเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษใบไม้ที่รวบรวมได้ในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ.2547 ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันเวลาราชการ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ติดต่อคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรสาร 053 498902 หรือโทร 053 878123


ที่มา 
https://www.facebook.com/notes/%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%8B%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B9%89/%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%8B%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87/872779429405137

ทำความรู้จักกับการปลูกข้าวแบบ Intensive เคยมีคนผลิตข้าวได้สูงถึง 3,584 กก.ต่อไร่

วันนี้มาทำความรู้จักกับการปลูกข้าวแบบเข้มข้น (Intensive) กันนะครับ ที่ทำให้เคยมีคนผลิตข้าวได้สูงถึง 3,584 กก.ต่อไร่ หรือ 22.4 ตันต่อเฮคตาร์  สูงกว่าที่คนไทยทำไว้เฉลี่ยประมาณ 448 กก.ต่อไร่ วิธีปลูกข้าวนี้ถูกนำไปใช้ 40 กว่าประเทศทั่วโลกแล้วรวมทั้งในเวียตนาม เรียกว่าระบบ System of Rice Intensification (SRI) ซึ่งในเมืองไทยก็มีพี่ซุป คุณสุภชัย ปิติวุฒิ เฟสบุ๊ค “ชาวนาวันหยุด” เดินสายทั่วประเทศเพื่อสอนทำอยู่ โดยเปลี่ยนเป็นชื่อเป็นแบบไทย ๆ ว่า "ระบบผลิตเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” โดยเกษตรกรที่ปฏิบัติตามก็ได้ผลผลิตข้าวมากกว่า 1,000 กก.ต่อไร่กันมาก สามารถตามไปศึกษาดูงานกันได้ครับ

การปลูกข้าววิธีนี้ต้องการศรัทธาและยอมรับการเปลี่ยนแปลงมาเป็นสิ่งแรกเลย เพราะจะค้านกับวิธีปลูกข้าวแบบเดิม ๆ ที่บรรพบุรุษไทยทำกันมาเป็นร้อยปี ....... คล้าย ๆ กับที่ชาวสวนลำไยที่เชียงใหม่และลำพูนช็อค ทำใจไม่ได้ที่จะให้ตัดแต่งต้นลำไยให้ต้นเตี้ยเพื่อให้เก็บผลผลิตได้ง่าย ลดแรงงาน ทำทรงหงายเพื่อให้ใบได้รับแสงแดดเต็มที่ และเด็ดผลทิ้งครึ่งหนึ่งทั้งสวนเพื่อให้ผลที่เหลือมีขนาดใหญ่ ได้ราคาสูง อย่างที่ชาวสวนจันทบุรีทำกัน

วิธีปลูกข้าวแบบ SRI นี้เริ่มโดยบาทหลวง Henri de Laulanie ที่ใช้เวลาตลอดชีวิตการทำงาน 34 ปีของท่าน ศึกษาค้นคว้าให้ได้วิธีปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตมาก ๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านในเกาะมาดากัสการ์ในปี 1983 ในภายหลังมีการกระจายความรู้นี้โดยเกษตรกร เอ็นจีโอ และมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยคอร์แนลของอเมริกา ที่จับเรื่องนี้แล้วทำโครงการเผยแพร่ไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

วิธี SRI มีหลักการคร่าว ๆ คือ

1. ใช้ต้นกล้าข้าวอายุน้อย 8 – 12 วัน ที่มีใบเลี้ยง 2 ใบ ลงปลูกแค่หนึ่งต้นต่อกอ
2. ย้ายกล้าลงปลูกให้เร็วที่สุด ลดการกระทบกระเทือนรากให้มากที่สุด
3. ให้มีระยะห่างระหว่างต้นข้าวอย่างน้อย 40 ซม. เพื่อให้ใบข้าวได้รับแสงแดดและอากาศให้มากที่สุด สามารถสังเคราะห์แสงได้ดี (สังเกตไหมครับ ว่าต้นข้าวอยู่ริมคันนามักมีขนาดต้นใหญ่กว่า เพราะได้รับแสงแดดและอากาศเต็มที่ ใบข้าวสังเคราะห์แสงสะสมอาหารได้เต็มที่ วิธีนี้จึงจัดให้ต้นข้าวทุกต้นเป็นข้าวริมคันนาครับ)
4. รักษาให้ดินนาแค่ชื้น แต่ไม่ท่วมขัง เพื่อให้มีอากาศในดินเพียงพอที่จะให้มีระบบนิเวศที่ดีในดิน จุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์จะสามารถย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินแล้วปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารให้รากต้นข้าวได้ดี ในขณะที่หากมีน้ำท่วมขัง จะเกิดสภาพไม่มีอากาศในดิน ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศที่ก่อให้เกิดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์และมีเทน ที่เป็นพิษ เป็นแก๊สโลกร้อน ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว
5. ระยะที่ห่างมากของต้นข้าว จะทำให้เราสามารถลงไปเดินพรวนดินจัดการหญ้าด้วยอุปกรณ์พรวนดินได้ (Rotary Hoe) หญ้าจะกลับลงไปเป็นปุ๋ยเป็นการหมุนเวียนแร่ธาตุอาหารในนาโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเลย การพรวนดินช่วยให้มีอากาศในดิน และนำอินทรียวัตถุกับปุ๋ยหมักที่หน้าดินกลับลงไปสู่รากต้นข้าว ดินที่มีอากาศจะป้องกันการเกิดโรคทางดินและศัตรูพืชได้ดี
6. แปลงนาต้องมีอินทรียวัตถุสูง ซึ่งได้จากการเติมปุ๋ยหมักหรือไถกลบปุ๋ยพืชสด วิธีนี้อาจใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยได้ แต่การที่ดินนามีอินทรียวัตถุสูง อินทรีย์วัตถุจะดูดซับประจุปุ๋ยเคมีไว้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากเหมือนในดินนาที่คุณภาพดินต่ำ จึงเป็นการลดต้นทุนลงได้
การปลูกข้าวของคนไทยนั้น เรารู้อย่างเดียวว่าต้องมีน้ำท่วมขังตลอดเวลา แต่วิธีใหม่นี้ถือว่าข้าวเป็นพืชที่ทนน้ำได้ แต่ข้าวไม่ใช่พืชน้ำ การที่ทำน้ำท่วมขังก็เพื่อลดภาระการจัดการหญ้าวัชพืชเท่านั้น วิธีใหม่นี้ใช้แรงงานในการเดินลงไปพรวนดิน จึงใช้แรงงานค่อนข้างมากในการจัดการหญ้าในนา แต่เมื่อเทียบกับปริมาณข้าวที่จะได้รับเพิ่มอย่างน้อย 2 เท่าแล้ว ก็น่าที่จะคุ้มอยู่นะครับ .... แนวคิดนี้เป็นสิ่งแรกที่สุดที่ชาวนาไทยต้องปรับเปลี่ยนให้ได้ก่อน

วิธีนี้จะทำน้ำท่วมขัง 1 – 2 ซม. แล้วปล่อยน้ำออก ทิ้งให้ดินแห้งแตกลายงา แล้วค่อยนำน้ำเข้าไปใหม่ สภาพดินที่แตกลายงาทำให้เกิดมีอากาศลงไปในดิน รากต้นข้าวจะแข็งแรง หาอาหารได้ไกล ต้นข้าวจึงโตและสมบูรณ์ ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้งหรือมีพายุฝนได้ดี แล้วก่อนจะเกี่ยวข้าว 2 – 3 อาทิตย์ก็ปล่อยให้ดินแห้ง ซึ่งให้ผลดีทางอ้อมคือข้าวเปลือกจะมีความชื้นต่ำ เมื่อสีเป็นข้าวขาวแล้วข้าวเสียหายลดลง 10 – 15 % พบว่า วิธีนี้ช่วยลดเวลาอายุการปลูกข้าวได้ มีระบบรากที่ใหญ่กว่า ลดความต้องการน้ำได้ 25 – 50 % เหมาะกับพื้นที่ในอีสานบ้านเรา ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ได้ 80- 90 % ลดต้นทุน 10 – 20 % และเพิ่มปริมาณข้าวได้ 25 – 100 %

ในการพรวนดินเพื่อจัดการหญ้า จะทำครั้งแรกในวันที่ 10 หลังการดำนา ทำซ้ำอีก 4 ครั้ง ..... การจัดการหอยเชอรี่ในนา คุณชาวนาวันหยุดใช้การปล่อยเป็ดเพราะมีช่องว่างระหว่างต้นข้าว ได้ขี้เป็ดและไข่เป็ดเป็นของแถม ส่วนการเพิ่มอินทรีย์วัตถุนั้นคุณชาวนาวันหยุดใช้การเลี้ยงแหนแดงในนาครับ ซึ่งเป็นอาหารเป็ดได้ด้วย

รายละเอียดการนำวิธีใหม่นี้มาประยุกต์ใช้กับไทยเรา พื้นที่ใดเหมาะหรือไม่เหมาะ พื้นที่มีระบบชลประทานจะทำอย่างไร ข้าวนาปีหรือนาปลัง ข้าวจ้าวหรือข้าวเหนียว ก็คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมจากเฟสบุ๊ค “ชาวนาวันหยุด” กันนะครับ

การผลิตข้าวให้ได้ปริมาณมาก ๆ ของวิธี SRI นี้จะไม่ได้ผลเลย หากดินนาไม่ได้รับการเติมอินทรีย์วัตถุ ดังนั้น ถ้าจะทำปุ๋ยหมักใส่นาสักไร่ละ 1 ตัน ... 10 ไร่ก็ 10 ตัน .... มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ครับถ้าจะใช้วิธีทำปุ๋ยหมักแบบพลิกกองแบบเดิม ๆ หรือไปซื้อปุ๋ยหมักของคนอื่น ..... แต่ถ้าลงมือทำแบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ของเพจห้องเรียนปุ๋ยหมักนี้ รับรองครับว่าสบายมาก เพราะไม่ต้องพลิก ในกระบวนการใส่แต่มูลสัตว์ ดูแลน้ำดี ๆ สองเดือนเสร็จ ต้นทุนเพียงตันละ 750 บาท แถมอาจมีปุ๋ยหมักเหลือขายได้ด้วยซ้ำ เค้าขายดันตันละ 5,000 - 7,000 บาทเชียวครับ .... ลงมือทำปุ๋ยหมักใส่นากันเยอะ ๆ นะครับ ฟาง ใบอ้อย ใบไม้ ผักตบ เศษข้าวโพด จะได้เป็นประโยชน์ ไม่ต้องเผา เอาทำปุ๋ยหมักใส่นา สร้างความร่ำรวย ๆ กันถ้วนหน้านะครับ



ที่มา:ห้องเรียนปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง-แม่โจ้

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มีดติดตา


http://www.ebay.com/itm/Grafting-knife-professional-wood-penitently-knife-grafting-tool-engraft-garden-/221342474967?pt=LH_DefaultDomain_0&hash=item33890a22d7

You save:
$0.50 (5% off)
Price:
US $9.49
ApproximatelyTHB318.04