วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทำความรู้จักกับการปลูกข้าวแบบ Intensive เคยมีคนผลิตข้าวได้สูงถึง 3,584 กก.ต่อไร่

วันนี้มาทำความรู้จักกับการปลูกข้าวแบบเข้มข้น (Intensive) กันนะครับ ที่ทำให้เคยมีคนผลิตข้าวได้สูงถึง 3,584 กก.ต่อไร่ หรือ 22.4 ตันต่อเฮคตาร์  สูงกว่าที่คนไทยทำไว้เฉลี่ยประมาณ 448 กก.ต่อไร่ วิธีปลูกข้าวนี้ถูกนำไปใช้ 40 กว่าประเทศทั่วโลกแล้วรวมทั้งในเวียตนาม เรียกว่าระบบ System of Rice Intensification (SRI) ซึ่งในเมืองไทยก็มีพี่ซุป คุณสุภชัย ปิติวุฒิ เฟสบุ๊ค “ชาวนาวันหยุด” เดินสายทั่วประเทศเพื่อสอนทำอยู่ โดยเปลี่ยนเป็นชื่อเป็นแบบไทย ๆ ว่า "ระบบผลิตเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” โดยเกษตรกรที่ปฏิบัติตามก็ได้ผลผลิตข้าวมากกว่า 1,000 กก.ต่อไร่กันมาก สามารถตามไปศึกษาดูงานกันได้ครับ

การปลูกข้าววิธีนี้ต้องการศรัทธาและยอมรับการเปลี่ยนแปลงมาเป็นสิ่งแรกเลย เพราะจะค้านกับวิธีปลูกข้าวแบบเดิม ๆ ที่บรรพบุรุษไทยทำกันมาเป็นร้อยปี ....... คล้าย ๆ กับที่ชาวสวนลำไยที่เชียงใหม่และลำพูนช็อค ทำใจไม่ได้ที่จะให้ตัดแต่งต้นลำไยให้ต้นเตี้ยเพื่อให้เก็บผลผลิตได้ง่าย ลดแรงงาน ทำทรงหงายเพื่อให้ใบได้รับแสงแดดเต็มที่ และเด็ดผลทิ้งครึ่งหนึ่งทั้งสวนเพื่อให้ผลที่เหลือมีขนาดใหญ่ ได้ราคาสูง อย่างที่ชาวสวนจันทบุรีทำกัน

วิธีปลูกข้าวแบบ SRI นี้เริ่มโดยบาทหลวง Henri de Laulanie ที่ใช้เวลาตลอดชีวิตการทำงาน 34 ปีของท่าน ศึกษาค้นคว้าให้ได้วิธีปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตมาก ๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านในเกาะมาดากัสการ์ในปี 1983 ในภายหลังมีการกระจายความรู้นี้โดยเกษตรกร เอ็นจีโอ และมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยคอร์แนลของอเมริกา ที่จับเรื่องนี้แล้วทำโครงการเผยแพร่ไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

วิธี SRI มีหลักการคร่าว ๆ คือ

1. ใช้ต้นกล้าข้าวอายุน้อย 8 – 12 วัน ที่มีใบเลี้ยง 2 ใบ ลงปลูกแค่หนึ่งต้นต่อกอ
2. ย้ายกล้าลงปลูกให้เร็วที่สุด ลดการกระทบกระเทือนรากให้มากที่สุด
3. ให้มีระยะห่างระหว่างต้นข้าวอย่างน้อย 40 ซม. เพื่อให้ใบข้าวได้รับแสงแดดและอากาศให้มากที่สุด สามารถสังเคราะห์แสงได้ดี (สังเกตไหมครับ ว่าต้นข้าวอยู่ริมคันนามักมีขนาดต้นใหญ่กว่า เพราะได้รับแสงแดดและอากาศเต็มที่ ใบข้าวสังเคราะห์แสงสะสมอาหารได้เต็มที่ วิธีนี้จึงจัดให้ต้นข้าวทุกต้นเป็นข้าวริมคันนาครับ)
4. รักษาให้ดินนาแค่ชื้น แต่ไม่ท่วมขัง เพื่อให้มีอากาศในดินเพียงพอที่จะให้มีระบบนิเวศที่ดีในดิน จุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์จะสามารถย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินแล้วปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารให้รากต้นข้าวได้ดี ในขณะที่หากมีน้ำท่วมขัง จะเกิดสภาพไม่มีอากาศในดิน ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศที่ก่อให้เกิดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์และมีเทน ที่เป็นพิษ เป็นแก๊สโลกร้อน ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว
5. ระยะที่ห่างมากของต้นข้าว จะทำให้เราสามารถลงไปเดินพรวนดินจัดการหญ้าด้วยอุปกรณ์พรวนดินได้ (Rotary Hoe) หญ้าจะกลับลงไปเป็นปุ๋ยเป็นการหมุนเวียนแร่ธาตุอาหารในนาโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเลย การพรวนดินช่วยให้มีอากาศในดิน และนำอินทรียวัตถุกับปุ๋ยหมักที่หน้าดินกลับลงไปสู่รากต้นข้าว ดินที่มีอากาศจะป้องกันการเกิดโรคทางดินและศัตรูพืชได้ดี
6. แปลงนาต้องมีอินทรียวัตถุสูง ซึ่งได้จากการเติมปุ๋ยหมักหรือไถกลบปุ๋ยพืชสด วิธีนี้อาจใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยได้ แต่การที่ดินนามีอินทรียวัตถุสูง อินทรีย์วัตถุจะดูดซับประจุปุ๋ยเคมีไว้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากเหมือนในดินนาที่คุณภาพดินต่ำ จึงเป็นการลดต้นทุนลงได้
การปลูกข้าวของคนไทยนั้น เรารู้อย่างเดียวว่าต้องมีน้ำท่วมขังตลอดเวลา แต่วิธีใหม่นี้ถือว่าข้าวเป็นพืชที่ทนน้ำได้ แต่ข้าวไม่ใช่พืชน้ำ การที่ทำน้ำท่วมขังก็เพื่อลดภาระการจัดการหญ้าวัชพืชเท่านั้น วิธีใหม่นี้ใช้แรงงานในการเดินลงไปพรวนดิน จึงใช้แรงงานค่อนข้างมากในการจัดการหญ้าในนา แต่เมื่อเทียบกับปริมาณข้าวที่จะได้รับเพิ่มอย่างน้อย 2 เท่าแล้ว ก็น่าที่จะคุ้มอยู่นะครับ .... แนวคิดนี้เป็นสิ่งแรกที่สุดที่ชาวนาไทยต้องปรับเปลี่ยนให้ได้ก่อน

วิธีนี้จะทำน้ำท่วมขัง 1 – 2 ซม. แล้วปล่อยน้ำออก ทิ้งให้ดินแห้งแตกลายงา แล้วค่อยนำน้ำเข้าไปใหม่ สภาพดินที่แตกลายงาทำให้เกิดมีอากาศลงไปในดิน รากต้นข้าวจะแข็งแรง หาอาหารได้ไกล ต้นข้าวจึงโตและสมบูรณ์ ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้งหรือมีพายุฝนได้ดี แล้วก่อนจะเกี่ยวข้าว 2 – 3 อาทิตย์ก็ปล่อยให้ดินแห้ง ซึ่งให้ผลดีทางอ้อมคือข้าวเปลือกจะมีความชื้นต่ำ เมื่อสีเป็นข้าวขาวแล้วข้าวเสียหายลดลง 10 – 15 % พบว่า วิธีนี้ช่วยลดเวลาอายุการปลูกข้าวได้ มีระบบรากที่ใหญ่กว่า ลดความต้องการน้ำได้ 25 – 50 % เหมาะกับพื้นที่ในอีสานบ้านเรา ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ได้ 80- 90 % ลดต้นทุน 10 – 20 % และเพิ่มปริมาณข้าวได้ 25 – 100 %

ในการพรวนดินเพื่อจัดการหญ้า จะทำครั้งแรกในวันที่ 10 หลังการดำนา ทำซ้ำอีก 4 ครั้ง ..... การจัดการหอยเชอรี่ในนา คุณชาวนาวันหยุดใช้การปล่อยเป็ดเพราะมีช่องว่างระหว่างต้นข้าว ได้ขี้เป็ดและไข่เป็ดเป็นของแถม ส่วนการเพิ่มอินทรีย์วัตถุนั้นคุณชาวนาวันหยุดใช้การเลี้ยงแหนแดงในนาครับ ซึ่งเป็นอาหารเป็ดได้ด้วย

รายละเอียดการนำวิธีใหม่นี้มาประยุกต์ใช้กับไทยเรา พื้นที่ใดเหมาะหรือไม่เหมาะ พื้นที่มีระบบชลประทานจะทำอย่างไร ข้าวนาปีหรือนาปลัง ข้าวจ้าวหรือข้าวเหนียว ก็คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมจากเฟสบุ๊ค “ชาวนาวันหยุด” กันนะครับ

การผลิตข้าวให้ได้ปริมาณมาก ๆ ของวิธี SRI นี้จะไม่ได้ผลเลย หากดินนาไม่ได้รับการเติมอินทรีย์วัตถุ ดังนั้น ถ้าจะทำปุ๋ยหมักใส่นาสักไร่ละ 1 ตัน ... 10 ไร่ก็ 10 ตัน .... มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ครับถ้าจะใช้วิธีทำปุ๋ยหมักแบบพลิกกองแบบเดิม ๆ หรือไปซื้อปุ๋ยหมักของคนอื่น ..... แต่ถ้าลงมือทำแบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ของเพจห้องเรียนปุ๋ยหมักนี้ รับรองครับว่าสบายมาก เพราะไม่ต้องพลิก ในกระบวนการใส่แต่มูลสัตว์ ดูแลน้ำดี ๆ สองเดือนเสร็จ ต้นทุนเพียงตันละ 750 บาท แถมอาจมีปุ๋ยหมักเหลือขายได้ด้วยซ้ำ เค้าขายดันตันละ 5,000 - 7,000 บาทเชียวครับ .... ลงมือทำปุ๋ยหมักใส่นากันเยอะ ๆ นะครับ ฟาง ใบอ้อย ใบไม้ ผักตบ เศษข้าวโพด จะได้เป็นประโยชน์ ไม่ต้องเผา เอาทำปุ๋ยหมักใส่นา สร้างความร่ำรวย ๆ กันถ้วนหน้านะครับ



ที่มา:ห้องเรียนปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง-แม่โจ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น